พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่รอดของป่าไม้เป็นอย่างยิ่ง ทรงเสนออุปกรณ์อันเป็นเครื่องมือที่จะใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ที่ได้ผลดียิ่งกล่าวคือ ปัญหาสำคัญที่เป็นตัวแปรแห่งความอยู่รอดของป่าไม้นั้น คือน้ำ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้โดยแท้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำให้ใช้ ฝายกั้นน้ำหรือเรียกว่า Check Dam หรืออาจเรียกขานกันว่า ฝายชะลอความชุ่มชื้น ก็ได้เช่นกัน
Check Dam คือสิ่งที่ก่อสร้างขวางกั้นทางเดินของลำน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำหรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ทำให้พืชสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลงและกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปในบริเวณลุ่มน้ำตอนล่าง นับเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชาธิบายว่า การปลูกป่าทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลายนั้น จะต้องสร้างฝายเล็ก เพื่อหนุนน้ำส่งไปตามเหมืองไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกทั้งสองด้าน ซึ่งจะให้น้ำ
ค่อย ๆ แผ่ขยายออกไปทำความชุ่มชื้นในบริเวณนั้นด้วย...
ในส่วนของรูปแบบและลักษณะ Check Dam นั้น ได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ว่า ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบทิ้งหินคลุมด้วยตาข่ายปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารเล็ก ๆ เป็นระยะ ๆ เพื่อให้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินทำให้ความชุ่มชี้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็ว และพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ...
ประเภทของ Check Dam นั้น ทรงแยกออกเป็น 2 ประเภท ดังพระราชดำรัสคือ Check Dam มี 2 อย่าง ชนิดหนึ่งสำหรับให้มีความชุ่มชื้น รักษาความชุ่มชื้น อีกอย่างสำหรับป้องกันมิให้ทรายลงในอ่างใหญ่
จึงอาจกล่าวได้ว่า Check Dam นั้น ประเภทแรก คือ ฝายต้นน้ำลำธารหรือฝายชะลอความชุ่มชื้น ส่วนประเภทที่สองนั้นเป็นฝายดักตะกอนนั่นเอง
การสร้าง Check Dam พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมในรายละเอียดว่า
...สำหรับ Check Dam ชนิดป้องกันไม่ให้ทรายไหลลงไปในอ่างใหญ่จะต้องทำให้ดีและลึก เพราะถ้าทรายมากจะกักเก็บไว้ ถ้าน้ำตื้นทรายจะข้ามไปลงอ่างใหญ่ ถ้าเป็น Check Dam สำหรับรักษาความชุ่มชื้นไม่จำเป็นต้องขุดลึกเพียงแต่กักน้ำให้ลงไปในดิน แต่แบบกักทรายนี้จะต้องทำให้ลึกและออกแบบอย่างไรไม่ให้น้ำลงมาแล้วไล่ทรายออกไป...
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพิจารณาสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นขึ้น เพื่อสร้างระบบวงจรน้ำแก่ป่าไม้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ
1. ให้ดำเนินการสำรวจทำเลสร้างฝายต้นน้ำลำธารในระดับที่สูงที่ใกล้บริเวณยอดเขามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ลักษณะของฝายดังกล่าวจำเป็นจะต้องออกแบบใหม่ เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ปริมาณมากพอสมควรเป็นเวลานาน 2 เดือน
2. การเก็บรักษาน้ำสำรองได้นานหลังจากฤดูฝนผ่านไปแล้ว จะทำให้มีปริมาณน้ำหล่อเลี้ยงและประคับประคองกล้าไม้พันธุ์ที่แข็งแรงและโตเร็วที่ใช้ปลูกแซมในป่าแห้งแล้งอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยการจ่ายน้ำออกไปรอบ ๆ ตัวฝายจนสามารถตั้งตัวได้
Check Dam ตามแนวพระราชดำริ กระทำได้ 3 รูปแบบ คือ
1. Check Dam แบบท้องถิ่นเบื้องต้น เป็นการก่อสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น กิ่งไม้และท่อนไม้ล้ม ขอนนอนไพร ขนาบด้วยก้อนหินขนาดต่าง ๆ ในลำห้วย ซึ่งเป็นการก่อสร้างแบบง่าย ก่อสร้างในบริเวณตอนบนของลำห้วยหรือร่องน้ำ ซึ่งสามารถดักตะกอนชะลอการไหลของน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณรอบฝายได้เป็นอย่างดี วิธีการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยมาก หรืออาจไม่มีค่าใช้จ่ายเลยนอกจากใช้แรงงานเท่านั้น
การก่อสร้าง Check Dam แบบง่ายนี้สามารถทำได้หลายวิธี เช่น
1.1 ก่อสร้างด้วยท่อนไม้ขนาบด้วยหิน
1.2 ก่อสร้างด้วยไม้ขนาบด้วยถุงบรรจุดินหรือทราย
1.3 ก่อสร้างแบบคอกหมูแกนดินอัดขบานด้วยหิน
1.4 ก่อสร้างแบบเรียงด้วยหินแบบง่าย
1.5 ก่อสร้างแบบคอกหมูหินทิ้ง
1.6 ก่อสร้างแบบคอกหมูถุงทรายซีเมนต์
1.7 ก่อสร้างแบบหลักคอนกรีตหินทิ้ง
1.8 ก่อสร้างแบบถุงทรายซีเมนต์
1.9 ก่อสร้างแบบคันดิน
1.10 ก่อสร้างแบบหลักไม้ไผ่สานขัดกัน อันเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน
2. Check Dam แบบเรียงด้วยหินค่อนข้างถาวร ก่อสร้างด้วยการเรียงหินเป็นผนังกั้นน้ำก่อสร้างบริเวณตอนกลางและตอนล่างของลำห้วยหรือร่องน้ำ จะสามารถดักตะกอนและเก็บกักน้ำในฤดูแล้งได้ดีบางส่วน
3. Check Dam แบบคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นการก่อสร้างแบบถาวร ส่วนมากจะดำเนินการในบริเวณตอนปลายของลำห้วยหรือร่องน้ำ จะสามารถดักตะกอนและเก็บกักน้ำในฤดูแล้งได้ดี ค่าก่อสร้างเฉลี่ยประมาณ 40,000-50,000 บาท แล้วแต่ขนาดของลำห้วยซึ่งควรมีความกว้างไม่เกิน 4 เมตร
ข้อคำนึงในการสร้าง Check Dam
1. ควรสำรวจสภาพพื้นที่ วัสดุก่อสร้างตามธรรมชาติ และรูปแบบ Check Dam ที่เหมาะสมกับภูมิประเทศมากที่สุด
2. ต้องคำนึงถึงความแข็งแรงให้มากพอที่จะไม่เกิดการพังทลายเสียหายยามที่ในตกหนักและกระแสน้ำไหลแรง
3. ควรก่อสร้างในพื้นที่ที่ช่องลำห้วยมีความลาดชันต่ำ เพื่อที่จะได้ Check Dam ในขนาดที่ไม่เล็กเกินไป อีกทั้งยังสามารถกักน้ำและตะกอนได้มากพอสมควร และในลำห้วยที่มีความลาดชันสูงก็ควรสร้าง Check Dam ให้ถี่ขึ้น
4. วัสดุก่อสร้าง Check Dam ประเภทกิ่งไม้ ท่อนไม้ ที่นำมาใช้ในการสร้างจะต้องนะมัดระวังใช้เฉพาะไม้ล้มขอนนอนไพรเป็นลำดับแรกก่อนที่จะใช้กิ่งไม้ ท่อนไม้จากการริดกิ่ง ถ้าจำเป็นให้ใช้น้อยที่สุด
5. ถ้าสร้าง Check Dam แบบคอกหมูแกนดินอัดแน่น ควรมีทางระบายน้ำด้านข้างเพื่อป้องกันน้ำกัดชะสันฝายจากการที่มีฝนตกหนักจนมีน้ำหลากมาก
6. ควรปลูกไม้ยืนต้นยึดดินบนสันฝาย เช่น ไคร้น้ำ หรือไม้ชนิดอื่น ๆ ที่สามารถขึ้นได้ดีบนที่ชื้น
7. ควรดำเนินการก่อสร้าง Check Dam หลังฤดูฝนหรือหลังน้ำหลาก และทุกปีควรมีการบำรุงรักษา ขุดลอกตะกอน ซ่อมแซมสันฝายและทางระบายน้ำล้นอยู่เป็นประจำ
แนวทางที่เหมาะสมในการสร้าง Check Dam
ก่อนดำเนินการ ควรสำรวจร่องน้ำลำห้วยในพื้นที่ที่มีปัญหาการพังทลายของดินหรือปัญหาพื้นที่ขาดความ ชุ่มชื้น โดยพิจารณาถึงความลาดชันของร่องน้ำและสำรวจหาข้อมูลปริมาณน้ำไหลในร่องน้ำมาใช้ประกอบการเลือกตำแหน่งสร้าง Check Dam ดังนี้
1. ในพื้นที่ลาดชันสูง ในกรณีที่ความกว้างของลำห้วยไม่เกิน 2 เมตร ควรสร้างฝายผสม ใช้วัสดุธรรมชาติ ไม้ท่อน หิน ถุงบรรจุดินหรือทราย แต่ถ้าความกว้างของลำห้วยมากกว่า 2 เมตร หรือในลำห้วยมีน้ำมากควรเพิ่มโครงสร้างของ Check Dam เป็นแบบคอกหมูที่มีโครงสร้างหลายระดับมากน้อยตามปริมาณน้ำ
2. ในพื้นที่ลาดชันปานกลาง ควรสร้าง Check Dam แบบคอกหมูหรือแบบท้องถิ่นของชาวบ้าน ถ้าเป็นแบบคอกหมูให้ใช้หินเรียงหรือกระสอบทรายผสมซีเมนต์ขนาบโครงสร้าง
3. ในพื้นที่ลาดชันต่ำ ในกรณีที่มีน้ำมากควรสร้างฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่ถ้ามีน้ำไม่มากนักและความกว้างไม่เกิน 2 เมตร อาจใช้ถุงทรายผสมซีเมนต์ได้
นานาประโยชน์จาก Check Dam อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
1. ช่วยลดการพังทลายของดินและลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วย ทำให้ระยะเวลาการไหลของน้ำเพิ่มมากขึ้น ความชุ่มชื้นมีมากขึ้น และแผ่ขยายกระจายความชุ่มชื้นออกไปเป็นวงกว้างในพื้นที่ทั้งสองฝั่งของลำห้วย
2. ช่วยกักเก็บตะกอนที่ไหลลงมากับน้ำในลำห้วยได้ดี เป็นการช่วยยืดอายุแหล่งน้ำตอนล่างให้ตื้นเขินช้าลง คุณภาพของน้ำมีตะกอนปะปนน้อยลง
3. เพิ่มความหลาดหลายทางชีวภาพให้แก่พื้นที่ จากการที่ความชุ่มชื้นเพิ่มมากขึ้น ความหนาแน่นของพันธุ์พืชก็ย่อมจะมีมากขึ้น
4. การที่สามารถกักเก็บน้ำไว่ได้บางส่วนนี้ ทำให้กิดเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการบริโภคของมนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ ตลอดจนนำไปใช้ในการเกษตรได้อีกด้วย
Check Dam จึงนับเป็นพระราชดำริที่เป็นทฤษฎีการพัฒนาป่าไม้ที่ยังประโยชน์สุขแก่มนุษยชาติทั้งมวลฝาย(check dam)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญ ของการอยู่รอดของป่าไม้เป็นอย่างยิ่ง ทรงเสนออุปกรณ์อันเป็นเครื่องมือที่จะใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ที่ได้ผลดียิ่ง กล่าวคือ ปัญหาที่สำคัญที่เป็นตัวแปรแห่งความอยู่รอดของป่าไม้นั้น น้ำ คือสิ่งที่ขาดไม่ได้โดยแท้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำให้ใช้ฝายกั้นน้ำ หรือเรียกว่า Check Dam หรืออาจเรียกว่า ฝายชะลอความชุ่มชื้น ก็ได้เช่นกัน Check Dam คือสิ่งก่อสร้างขวางกั้นทางเดินของลำน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำ หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ทำให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปในบริเวณลุ่มน้ำตอนล่าง นับเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง
ที่มา http://board.kapook.com/viewthread.php?tid=16245
วันที่สืบค้นข้อมูล 19 กุมภาพันธ์ 2553
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น